มากกว่าเก็บขยะเกาะ สู่การเพิ่มมูลค่าอนาคต...

มากกว่าเก็บขยะเกาะ สู่ การเพิ่มมูลค่าอนาคตขยะทะเล!!
ชวนอาสาสมัคร นักท่องเที่ยวหัวใจกรีน 
ร่วมกิจกรรมเก็บขยะเกาะ พร้อมประชาคมชาวเกาะ 30 +
 วันมหาสมุทรโลกปี 2568
กรมทช. กรมท่องเที่ยว ททท. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย WWF EJF บพข. ร่วมกับ เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทยและภาคีพันธมิตรเครือข่ายเกาะฯ ประกาศชักชวนอาสาสมัครทั่วโลก ร่วมกิจกรรมเก็บขยะทะเล จากชายหาด ป่าชายเลนและดำน้ำเก็บขยะในแนวปะการัง แบบบูรณาการครบวงจร พร้อมกับประชาคมชาวเกาะกว่า 30 แห่ง เพื่อรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศเกาะและทะเล พลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย สู่ การท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมเปิดงานสัมมนาชาวเกาะเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครั้งที่ 3 ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันมหาสมุทรโลกปี 2568 

4 ธันวาคม 2567,  กรุงเทพฯ: ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมท่องเที่ยว จับมือผู้แทนเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย จากกลุ่มเกาะอ่าวไทย กลุ่มเกาะตะวันออกและกลุ่มเกาะอันดามัน รวมถึงภาคีพันธมิตรร่วมแถลงข่าวงาน 30+ Islands Clean-Up: So Cool Mission กว่า 10 องค์กร อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย WWF มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มูลนิธินิเวศวิถี สำนักข่าวดิ โอแลนด์การ์เดี้ยน เครือข่าย 30x30 ประเทศไทย OGGA CIRCULAR หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศิลปากร TCEB... 
เพื่อชักชวนอาสาสมัครนักท่องเที่ยวหัวใจรักษ์โลกมาร่วมกิจกรรมเก็บขยะพร้อมกับเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย จำนวนกว่า 33 เกาะ ประกอบด้วย กลุ่มเกาะตะวันออก อาทิ เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะจิก กลุ่มเกาะอ่าวไทย อาทิ เกาะทะลุ เกาะพิทักษ์ เกาะสมุย เกาะมัดสุม เกาะพะลวย เกาะแตน เกาะพะงัน เกาะเต่า กลุ่มเกาะอันดามัน อาทิ เกาะพยาม เกาะช้างเล็ก เกาะภูเก็ต เกาะราชา เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะจัม เกาะปู เกาะคณฑี เกาะศรีบอยา เกาะพีพี เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะมุก เกาะพระทอง เกาะลิบง เกาะสุกร เกาะกระดาน เกาะไหง เกาะปันหยี และเกาะหลีเป๊ะ...
     สำหรับกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงพลังการพลิกปัญหาสู่การจัดการขยะเกาะและขยะทะเลอย่างยั่งยืนครบวงจร จึงจะขอเชิญชวนอาสาสมัครทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมแสดงพลังการจัดกิจกรรมเก็บขยะเกาะ ร่วมกันกว่า 30 เกาะ ทั้งใต้ท้องทะเล ชายหาดและป่าชายเลน อย่างพร้อมเพรียงกัน ในวันมหาสมุทรโลก วันที่ 8 มิถุนายน 2568...
เพื่อปกป้องและฟื้นฟูความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศ ปัญหาและผลกระทบของขยะทะเลต่อสิ่งมีชีวิต และสร้างพฤติกรรมใหม่ในการท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญประชาคมชาวเกาะมีความเข้มแข็งในการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นระบบครบวงจรเชื่อมโยงกับผู้รับซื้อและผู้ผลิตแปรรูปโดยได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและมีกลไกการสร้างรายได้จากการรีไซเคิลอย่างยั่งยืน...
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ระบบนิเวศของเกาะ มีความเปราะบางและซับซ้อนมาก เนื่องจากพื้นที่จำกัด ความหลากหลายทางชีวภาพที่เฉพาะเจาะจง และยังต้องพึ่งพาทรัพยากรจากแหล่งภายนอก ขยะที่ติดเกาะ มาจากกระแสน้ำพัดพาจากภายนอกและภายในเกาะ หลายเกาะต้องเผชิญกับขยะและข้อจำกัดจากการบริหารจัดการทรัพยากรจำกัด เกาะเล็กไม่มีพื้นที่สำหรับการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม...
จึงส่งผลต่อการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคตามมา ดังนั้น การสร้างเครือข่ายจัดการขยะเกาะในระดับภูมิภาค และการพัฒนาระบบที่เหมาะสมของเกาะ จะช่วยให้ลดภัยคุกคามจากขยะที่ติดเกาะและระบบนิเวศฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน...
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขยะทะเล นับเป็นปัญหามลพิษทางทะเล ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก จากสถิติข้อมูลขยะทะเลในปี 2567 พบว่าขยะที่ตกค้างในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทพลาสติก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 88 ของขยะทะเลที่พบทั้งหมด...
สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยที่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะพลาสติกบนเกาะที่จะต้องใช้การจัดการที่มีลักษณะเฉพาะ ส่งผลให้ขยะพลาสติกยังคงหลุดลอดลงสู่ทะเลและมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง...
ทาง กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จึงร่วมกับมูลนิธินิเวศวิถี และภาคีพันธมิตรเครือข่ายเกาะฯ ดำเนินโครงการ 30+Islands Clean Up: So Cool Mission 2025  ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ดีในการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมฯ กับเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตื่นตัวและร่วมกันหาแนวทางในการลดขยะบนเกาะและไหลลงทะเล ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการขยะเกาะภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป...
ส่วน นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวถึงประเด็นการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะของไทยว่า การขับเคลื่อนของเครือข่ายเกาะฯ ครั้งนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างของกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงพลังชาวเกาะ ที่เป็นทั้งเจ้าของบ้านและเป็นผู้ดูแลทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาล นับจากมีการประกาศ “ปฏิญญาเกาะเต่า” ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ร่วมกันในงานสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนครั้งแรกของประเทศไทย ในวันมหาสมุทรโลก เมื่อปี 2566...
ซึ่งทางกรมการท่องเที่ยว เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการเติบโตสีเขียวที่ยั่งยืน และการสนับสนุนการจัดสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ที่ เกาะเต่า ครั้งที่ 2 ที่เกาะลันตา และที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3  ที่เกาะช้าง ในวันมหาสมุทรโลก ปี 2568... 
 สำหรับ โครงการ 30+Islands Clean Up: So Cool Mission 2025  นับเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะทะเลและขยะเกาะอย่างเป็นรูปธรรมครบวงจร ที่จะช่วยให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวได้ ซึ่งทางกรมการท่องเที่ยวมุ่งยกระดับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเกาะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อปกป้อง อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่เกาะได้อย่างยั่งยืน...
 นายวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวลันตา เจ้าภาพการจัดงานสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ประเทศไทย ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ปัญหาขยะ เป็นปัญหาหนักอกของพวกเราชาวเกาะมาอย่างยาวนาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความร่วมมือของทุกภาคส่วน ให้เข้าใจพวกเรา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมดูแลรักษาเกาะ สถานที่ท่องเที่ยวของทุกคนให้คงความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม... 
โครงการ 30+Islands Clean Up: So Cool Mission 2025 ที่จะมีกิจกรรมเก็บขยะพร้อมกัน 30 กว่าเกาะครั้งนี้ จึงเป็นมากกว่าแค่การเก็บขยะเกาะ แต่เป็นการ “จุดประกาย” ให้ทุกคนร่วมลดปัญหาขยะทะเล และขยะบนเกาะให้มากที่สุด เพราะขยะในเมืองหนึ่งชิ้น หากไม่มีการจัดการให้ดีจากต้นทาง ขยะหนึ่งชิ้นนั้นจะไหลลงสู่ทะเล มาทำร้ายสัตว์ทะเล ทำลายทรัพยากรทางทะเล ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก กระทั่งย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพของพวกเราทุกคน...
“พวกเราชาวเกาะ ขอชวนเชิญทุกท่านมาร่วมเป็นผู้พิทักษ์ทะเลและเกาะ โดยลงทะเบียนร่วมกิจกรรมกับพวกเรา 30 กว่าเกาะในช่องทางที่จะประกาศให้ลงทะเบียนในอนาคตอันใกล้ กิจกรรมนี้เป็นมากกว่าการเก็บขยะ เราจะเพิ่มมูลค่าให้กับขยะทะเล สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยกระดับการท่องเที่ยวเกาะไทยต่อไป” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวลันตา กล่าว...
 กิจกรรม 30+Islands Clean Up: So Cool Mission 2025 ครั้งนี้กิจกรรมหนึ่งที่ริเริ่มโดย เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย ซึ่งรวมตัวขึ้นครั้งแรกในงานสัมมนาชาวเกาะเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในวันมหาสมุทรโลก 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจะมีการจัดงานสัมมนาชาวเกาะฯ ครั้งที่ 3 ขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน พ.ศ.2568 ที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทยได้ผ่านทาง เพจ The Islands’ Guardian และมูลนิธินิเวศวิถี...
__________________________

 
 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา

..นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ร้องสื่อมวลชน หลังถูกกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาคุกคามถึงหน้าสมาคมฯ