NIA-ธนาคารออมสิน เปิดแพลตฟอร์ม ปูทาง ผู้ประกอบการนิวเจน ทำธุรกิจยุคใหม่....

     “เอ็นไอเอ – ธ.ออมสิน” เปิดแพลตฟอร์มปูทาง ผปก. นิวเจนทำธุรกิจยุคใหม่ให้ถูกทาง พร้อมดึงธุรกิจตัวท็อปร่วมโค้ชชิ่งตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีและปั้นธุรกิจนวัตกรรมได้แบบไร้ข้อจำกัด ...

      สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับธนาคารออมสิน เปิดตัว “หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่: Entrepreneurship and New Business Development” หลักสูตรการทำธุรกิจนวัตกรรมที่เรียนได้ง่าย ไม่มีข้อจำกัดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนเริ่มธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวมุ่งเน้นที่เนื้อหา 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.การเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ 2. การหาแนวคิดธุรกิจใหม่ 3. การออกแบบธุรกิจใหม่ และ 4. การเริ่มต้นและขยายธุรกิจ ประกอบด้วยส่วนแนวคิดเชิงทฤษฎีจากอาจารย์
มหาวิทยาลัยชั้นนำ และกรณีศึกษาจากธุรกิจชั้นนำของประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรม ได้แก่ Yell Advertising, Shinkanzen Sushi, Lineman Wongnai, MO-MO-Paradise, กาแฟพันธุ์ไทย, PEAK account, เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และ K Fresh ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวประกอบไปด้วย 10 บทเรียน เฉลี่ยบทเรียนละ 40 นาที ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้ารับการอบรมได้ที่ moocs.nia.or.th/gsb ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy มุ่งจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม ทั้งกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีที่อยากจะปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมในการประกอบกิจการ หรือ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีความประสงค์ต้องการนำนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจะมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการนวัตกรรมในภูมิภาคมียอดขายที่เติบโตขึ้น จนเกิดผลกระทบเชิงบวกในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ จากการประเมินผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พบว่าหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันฯ เช่น STEAM4INNOVATOR (สำหรับเยาวชน) SPACE-F (สำหรับผู้ประกอบการ/สตาร์ทอัพ) SME TO IBE (สำหรับองค์กร) PPCIL (สำหรับผู้บริหาร) ฯลฯ สามารถสร้างผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 5 ระดับ ตั้งแต่การจุดประกายความคิด การพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม การเชื่อมต่อกับเครือข่ายเพื่อการพัฒนางาน การสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และการสร้างผลกระทบต่อเนื่องสู่สังคมและชุมชน
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน มีบริบทของการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ลักษณะ พฤติกรรม และกรอบแนวคิดของผู้ประกอบการ หรืออาจเรียกว่า “ภาวะผู้ประกอบการ” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวทางธุรกิจ NIA Academy จึงได้ร่วมกับธนาคารออมสินจัดทำ “หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่ : Entrepreneurship and New Business Development” ซึ่งเป็นการเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม MOOCS หนึ่งในนวัตกรรมเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ 
ซึ่งจะประกอบไปด้วยบทเรียนออนไลน์ 10 วิชา กับอีก 10 กรณีศึกษาจากนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ และเป็นหลักสูตรที่สามารถรองรับผู้เรียนได้จำนวนมาก ไม่มีการจำกัดเพศและวัยที่จะเข้าศึกษา ทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถเรียนซ้ำได้ ไม่จำกัดระยะเวลาในการเรียน และมีใบรับรองให้เมื่อเรียนจบ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ แก้ไขปัญหาจากตัวอย่างที่ศึกษาได้ อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มรูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงให้กับประชากรทั่วโลก
“โดย NIA หวังว่า “หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่” จะช่วยเสริมสร้างแนวคิดและการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโดยมีนวัตกรรมเป็นหัวใจของการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และนำไปใช้ เพราะการศึกษาไม่ว่าจะเรียนในแพลตฟอร์มใด ก็ยังคงมุ่งเน้นให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมโอกาสดีๆ สร้างความรู้ ให้ผู้ประกอบการไทยในการนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คาดว่าผู้สนใจเข้ารับการอบรมจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ รับรู้ เข้าใจ และนำนวัตกรรมไปปรับใช้และเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้กลายเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
ด้าน คุณสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Start up เผยว่า ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อสังคม ธนาคารออมสินได้ดำเนินการในเรื่องการพัฒนาและยกระดับระบบนิเวศน์วิสาหกิจเริ่มต้นและสร้างผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง ศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับธุรกิจและในระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นความสำคัญของการพัฒนาแฟลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตนเองด้านนวัตกรรมร่วมกันกับ NIA ตามแนวคิด Life Long Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเป็นหลักสูตรเสริมสร้างทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนาตนเอง และนำไอเดียไปสู่การสร้างธุรกิจเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านหัวข้อการเรียนรู้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. การเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ 2. การหาแนวคิดธุรกิจใหม่ 3. การออกแบบธุรกิจใหม่ และ 4. การเริ่มต้นและขยายธุรกิจ โดยเป็นการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยส่วนแนวคิดเชิงทฤษฎีจากอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ เรียนรู้ไปพร้อมกับกรณีศึกษาจากธุรกิจชั้นนำของประเทศ ซึ่งข้อดีของหลักสูตรและแพลตฟอร์มดังกล่าวคือ นำแนวทางจากผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมจริง และให้ความรู้โดยผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจ เปรียบเสมือนโค้ชที่จะคอยช่วยแนะนำการทำธุรกิจให้ไปได้อย่างถูกทาง
“การเรียนรู้ทั้ง 4 กลุ่มหัวข้อนับว่าเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับการจะเป็นผู้ประกอบการ - การจัดตั้งธุรกิจ โดย NIA และธนาคารออมสินได้คัดเลือก ธุรกิจนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นในแต่ละมิติมาเป็นแนวทางในการให้ความรู้แก่ผู้ที่เรียนบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น บริษัท "Yell Advertising” เอเจนซีสัญชาติไทยที่มีผลงานสร้างแบรนด์ขนาดใหญ่มากมาย รวมถึง"Shinkanzen Sushi" ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นพันล้านที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ที่จะเป็นบทเรียนในด้านคุณลักษณะเบื้องต้นของการเป็นผู้ประกอบการ และการปรับ Mindset ในหัวข้อการเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ ส่วนของการหาแนวคิดธุรกิจใหม่ จะมีการนำแนวทางทั้งการหาไอเดียทำธุรกิจจาก "Lineman Wongnai" การทำความเข้าใจกับโอกาสทางการประกอบการ จากแบรนด์สุกี้ ชาบูที่เป็นที่นิยมอย่าง "MO-MO-Paradise" รวมถึงแนวทางการนำเสนอคุณค่าให้กับ Business Model โดยมีตัวอย่างเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกและ "กาแฟพันธุ์ไทย" ด้านการออกแบบธุรกิจใหม่ จะมุ่งเน้นแนวทางการวางโครงสร้างพื้นฐานบัญชีสําหรับธุรกิจใหม่ จากสตาร์ทอัพด้านการบัญชีอย่าง "PEAK account" ที่จะให้ความรู้ทั้งด้านการบัญชี และการดำเนินงานแบบบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพ การออกแบบองค์ประกอบของการสร้างตราสินค้าที่จะนำไปสู่การสร้าง Brand Loyalty และหัวข้อสุดท้ายการเริ่มต้นและขยายธุรกิจ จะมีการให้ความรู้ทั้งสิ่งที่ต้องระวังในช่วงที่เริ่มต้นธุรกิจจาก “เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์” การทำความเข้าใจทางเลือกที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก "ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป" และธุรกิจตามแนวคิด BCG โดย "K Fresh" ผู้ที่นำพาผลไม้ไทยสู่การแข่งขันในเวทีระดับโลก”
ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวจะใช้เวลาในการเรียนเฉลี่ยบทเรียนละ 40 นาที จำนวนทั้งสิ้น 10 บทเรียน ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าเรียนได้ที่ moocs.nia.or.th/gsb ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา

..นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ร้องสื่อมวลชน หลังถูกกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาคุกคามถึงหน้าสมาคมฯ

กสทช.-กตป.ประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน...