อพวช. จับมือไทยพีบีเอส จัดโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ปีที่ 5
อพวช. ร่วมกับ ไทยพีบีเอส จัดโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (Short Science Film #5) โดยใช้หลักการของ “Science Around Us หรือ วิทยาศาสตร์รอบตัว” มาประยุกต์เป็นเรื่องราวภายใต้แนวคิด “Change มองมุมวิทย์ ชีวิตเปลี่ยน” ความยาว 8-10 นาที ชิงเงินรางวัลและทัศนศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ มูลค่ารวมกว่า 700,000 บาท เปิดรับสมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 15 กรกฎาคม 2563
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดเวทีเปิดพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน และผู้สนใจได้พัฒนาทักษะในด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผ่าน ภาพยนตร์สั้น ในโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ปีที่ 5 (Short Science Film #5) ด้วยการนำหลักการของ “Science Around Us หรือ วิทยาศาสตร์รอบตัว” ถ่ายทอดออกมาภายใต้แนวคิด “Change มองมุมวิทย์ ชีวิตเปลี่ยน” โครงการฯ นี้ตั้งใจจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองในเรื่องของศิลปะและวิทยาศาสตร์ ว่าจริง ๆ แล้ว เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอและอยู่รอบๆ ตัวเราตลอดเวลาด้วย รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาขนคนไทยทุกคน ให้หันมาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญ ในการปลูกฝังและสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน
นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า
โครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ปีที่ 5 (Short Science Film #5) ในปีนี้นับเป็นเวทีที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเปิดกว้างให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจการทำหนังสั้นได้แสดงความสามารถ โดยนำความรู้พื้นฐานและมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสั้นวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งปีนี้มีทุนการศึกษา , เงินรางวัลและทัศนศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์สำหรับทีมชนะเลิศ รางวัลมูลค่ารวมกว่า 700,000.-บาท โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท 1.ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) 2. ประเภทอุดมศึกษา(เทียบเท่า) อายุไม่เกิน 25 ปี และ3.ประเภทประชาชนทั่วไป สมาชิกของทีมไม่จำกัด เพศ อายุ และวุฒิการศึกษา
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(Thai PBS) เปิดเผยว่า คนไทยทุกคนสามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์พลังในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผ่านการผลิตภาพยนตร์สั้นทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะศาสตร์และศิลป์ เป็นของคู่กัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถคิด และสร้างสรรค์ได้ง่าย เป็นการถ่ายทอด เผยแพร่เรื่องราว ความรู้ จินตนาการ แห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ผ่านสื่อศิลปะที่เข้าถึงง่าย โดยผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทุกประเภท จะได้เผยแพร่และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
กิจกรรมของโครงการ ฯ นี้ เริ่มตั้งแต่งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯและเปิดรับสมัครวันแรกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์
2563
เวลา 9.00-11.30 น. โดยนอกจากจะนำเสนอข่าวสารข้อมูลในปีนี้แล้ว ยังจัดให้มีการพูดคุย MiniTalk กับ GURU คนดัง ในหัวข้อ “หนังสั้นวิทย์ คุณทำได้ แค่เปลี่ยนมุมคิด” โดยคุณโหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร A Day และThe Standard , คุณชัญญา แม็คคลอรีย์ นักแสดงหญิง เจ้าของรางวัล Best Leading Female จากซีรีส์
เรื่อง The Deadline ในงาน 24th Asian Television Awards (ATA) , คุณอ๊อด บัณฑิต ทองดี เลขาธิการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และคุณชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา หัวหน้ากองสื่อสารวิทยาศาสตร์ อพวช. นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเดินสาย Roadshow ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทุกภาค คือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั่วประเทศอีกทั้งยังจัดให้มี Workshop ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(หรือเทียบเท่า) ที่เข้าร่วมในโครงการฯ กับการอบรมกระบวนการผลิตภาพยนตร์สั้น จำนวน 15 ทีม ร่วมกับผู้กำกับมืออาชีพ 5 ท่าน คุณเชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผู้กำกับหนัง สารคดีคุณภาพ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อดีตผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ดังเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ 2001 คุณวิชชพัชร์ โกจิ๋ว 1 ในผู้กำกับภาพยนตร์ร้อยล้าน “แฟนฉัน” และกรรมการผู้จัดการบริษัท จีทีเอช ออนแอร์ จำกัด
คุณชาญชัย สวัสดิวิชัยกุล ผู้กำกับละครทางช่อง 7 สี และซีรีส์ละครเด็กทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
คุณบุญญฤทธิ์ เวียงนนท์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ โปรดิวเซอร์และนักแสดง ที่เคยผ่านเวทีภาพยนตร์ระดับโลกที่เมืองคานส์
ประเทศฝรั่งเศส และคุณบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับ นักเขียนบท ผู้สร้างภาพยนตร์ และเลขาธิการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งสามารถส่งผลงานได้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Facebook : Short Science Film
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น