วธ.เปิดเส้นทาง สักการะพระเถราจารย์หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจีด.

วธ. เปิดเส้นทางสักการะพระเถราจารย์ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
ชวนนักท่องเที่ยวตามรอยความเชื่อแห่งศรัทธา เสริมความเป็นสิริมงคล
วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระเถราจารย์ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสงขลา ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม 
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม 
โดยกรมการศาสนา ได้ต่อยอดกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระเถราจารย์ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา โดยการนำ Soft Power ด้านศาสนา 
ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมศักยภาพชุมชนคุณธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน พัฒนาความรู้ คู่คุณธรรม ซึ่งสมเด็จพะโคะหรือหลวงปู่ทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระเถระที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า "หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ประวัติอันพิสดารของท่านมีการเล่าสืบกันมาอย่างยาวนาน และขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงมิติศาสนา จึงได้เปิดเส้นทางสักการะหลวงปู่ทวด ตามความเชื่อตามเส้นทาง เริ่มตั้งแต่วัดต้นเลียบ 
ที่มีความเชื่อทางด้าน “รากฐานชีวิตที่มั่นคง” เมื่อ 400 ปีก่อน วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ฝังรกของหลวงปู่ทวดบริเวณโคนต้นเลียบ หากได้มากราบไหว้สักการะบูชาสถูปที่ฝังรกของหลวงปู่ทวดที่วัดต้นเลียบ จะช่วยเสริมสร้างบุญบารมีและเป็นมงคลแห่งชีวิต ส่วนสำนักสงฆ์นาเปล มีความเชื่อทางด้าน “เลี้ยงลูกง่าย เป็นเด็กดี และสุขภาพแข็งแรง” เล่ากันว่านายหูและนางจันทร์ บิดามารดานำลูกน้อยผูกเปลไว้ใต้ต้นมะม่วงบริเวณทุ่งนาแล้วลงไปทำนา เมื่อกลับขึ้นมาเห็นงูบองหลาหรือพญางูจงอางตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปล จึงรีบหาดอกไม้มาขอขมาเทพยดา ให้ปกปักคุ้มครองลูกของตน หลังจากนั้นพญางูจึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อยเลื้อยหายไป แต่ปรากฏว่ามีฟองน้ำลายพญางูซึ่งได้แข็งตัวเป็นลูกแก้วอยู่ที่อกของลูกชาย (ซึ่งต่อมากลายเป็นลูกแก้วคู่บารมีหลวงปู่ทวด) ปัจจุบันที่สำนักสงฆ์นาเปล มีการสร้างประติมากรรมปูนปั้นจำลองเหตุการณ์เอาไว้ ด้านวัดดีหลวง มีความเชื่อทางด้าน “การศึกษา การงาน การเงิน” 
วัดดีหลวง เป็นวัดที่หลวงปู่ทวด เมื่ออายุ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาวิชาต่าง ๆ โดยมีสมภารจวง 
อดีตเจ้าอาวาส เป็นผู้บรรพชาสามเณรให้หลวงปู่ทวด ซึ่งสถูปของสมภารจวงประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ หากได้มากราบไหว้สักการะบูชาจะช่วยเสริมสร้างบุญบารมีและเป็นมงคลในด้าน “มีความเฉลียวฉลาด รอบรู้และประสบความสำเร็จทางการศึกษา” และวัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ มีความเชื่อทางด้าน “ความเจริญรุ่งเรือง” เนื่องจากว่าเป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่ทวด มีโบราณสถาน โบราณวัตถุประดิษฐานอยู่มากมาย เช่น 
พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งหลวงปู่ทวดได้นำลูกแก้วคู่บารมีมาบรรจุไว้บนยอดสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำซักจีวร เป็นบ่อน้ำที่หลวงปู่ทวดใช้ซักจีวรของท่านและยังเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ อีกทั้งยังมีวิหารรอยพระบาท เป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทข้างซ้าย เชื่อว่ารอยนี้เป็นรอยที่หลวงปู่ทวด แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหยียบไว้ก่อนจะหายไปจากวัดพะโคะ 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า “โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา” เป็นโครงการที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism)  ในปี 2567 กรมการศาสนาร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงมิติศาสนา จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิดจังหวัดเชียงใหม่ 2) เส้นทางสักการะพระเถราจารย์ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จังหวัดสงขลา 3) เส้นทางสักการะ 4 ครูบา 5 พระเจ้า 9 พระธาตุ จังหวัดน่าน 4) เส้นทางตามรอยพระเถราจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (โต พรหมรังสี) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 5) เส้นทาง 9 ทางเชื่อมแห่งศรัทธา นาคา-นาคี จังหวัดอุดรธานี เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เกิดการเรียนรู้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาผ่านการท่องเที่ยวศาสนสถานสำคัญและวิถีวัฒนธรรมในพื้นที่ ให้วัด ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชนบนฐานของมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยดำเนินงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือตามแนวคิด Soft Power ชูเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสร้างการรับรู้นำไปสู่การพัฒนา เป็นการส่งเสริมการสืบสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามของท้องถิ่น... 
__________________________

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา

..นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ร้องสื่อมวลชน หลังถูกกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาคุกคามถึงหน้าสมาคมฯ

มากกว่าเก็บขยะเกาะ สู่การเพิ่มมูลค่าอนาคต...