กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หลายประเทศทั่วโลกอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 แล้ว
อว. เผยประมาณ 9 ประเทศใช้วัควีนโควิดแล้วกว่า 4.4 ล้านโดส
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หลายประเทศทั่วโลกอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 แล้ว และประมาณ 9 ประเทศได้ใช้วัคซีนที่ผ่านการทดสอบในมนุษย์แล้วกว่า 4.4 ล้านโดส โดยเฉพาะหรัฐฯ ใช้ไปแล้วว่า 1.94 ล้านโดส ส่วนประเทศไทยได้จองวัคซีนแล้วจำนวน 26 ล้านโดส และรัฐบาลกำลังดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับวัคซีนจำนวนเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอกับทุกคน
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ความคืบหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่าขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดที่ผ่านขั้นตอนการทดสอบในมนุษย์จนแน่ใจว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอ และได้รับอนุมัติในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว โดยได้นำมาใช้ประมาณ 9 ประเทศแล้ว รวมจำนวนมากกว่า 4.4 ล้านโดส โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มฉีดวัคซีนในประชากรครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ซึ่งใช้แล้วจำนวนกว่า 1.94 ล้านโดส จากที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนของ Pfizer/BioNtech จำนวน 5.1 ล้านโดส และวัคซีนของ Moderna จำนวน 6 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะต้องให้ในปริมาณคนละ 2 โดส ผลการทดสอบมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่าร้อยละ 95
ในส่วนการจัดหาและเตรียมใช้วัคซีน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทำความตกลงจองวัคซีนล่วงหน้าจากผู้ผลิตแต่ละรายไปแล้ว จำนวนรวม 8,150 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุมประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลก โดยส่วนใหญ่ต้องให้วัคซีนคนละ 2 โดส จึงเท่ากับมีการจองวัคซีนแล้วสำหรับ 4,075 ล้านคน และเริ่มทะยอยการส่งมอบตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี พ.ศ. 2565 ซึ่ง AstraZeneca เป็นบริษัทลำดับแรกๆ ที่บรรลุข้อตกลงการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าสำหรับประชากรโลก ซึ่งขณะนี้มียอดจองแล้วมากที่สุด เท่ากับประมาณ 1,460 ล้านคน มากกว่าวัคซีนของบริษัทอื่นๆ กว่าสองเท่า ในขณะที่วัคซีนบางชนิดก็ไม่ผ่านการทดสอบ เช่น วัคซีนของประเทศออสเตรเลียที่ต้องยกเลิกการทดสอบในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 และในวันต่อมา Sanofi และ GlaxoSmithKline ก็ประกาศชะลอการทดสอบวัคซีนเช่นกัน
วัคซีนโรคโควิด-19 กำลังออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ซึ่งโดยปกติการพัฒนาวัคซีนจะใช้เวลานานหลายปี เนื่องมาจากทั่วโลกได้สนับสนุนการเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนหลายรูปแบบพร้อมๆ กัน และร่นระยะเวลารอยต่อในช่วงการทดสอบแต่ละขั้น ช่วงการผลิต และการขึ้นทะเบียนให้สั้นลง ศ.นพ.สิริฤกษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จำนวนวัคซีนที่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ผลิตแต่ละรายได้เพิ่มจำนวนการผลิตขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงภายในต้นปีหน้า และในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คนส่วนใหญ่ที่ควรจะต้องได้รับวัคซีนจะเข้าถึงวัคซีนนี้ได้
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุด้วยว่ากลยุทธการเข้าถึงวัคซีนของแต่ละประเทศมีหลากหลายวิธี เช่น ใช้วิธีทำข้อตกลงแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตแต่ละราย หรือในขณะที่หลายสิบประเทศทำข้อตกลงในรูปแบบพหุภาคีผ่านกลไก COVAX หรือผ่านองค์การอนามัยโลก เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตามยอดการสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น แคนาดาซึ่งมีประชากร 38 ล้านคน มีสัญญาสั่งจองวัคซีนกับบริษัทอย่างน้อย 7 แห่งเพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับฉีดได้ 112 ล้านคน ซึ่งเป็น 3 เท่าของประชากรประเทศหลายเท่า รวมทั้งสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก ได้สั่งจองวัคซีนแล้วมากกว่าจำนวนประชากร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มียอดจองวัคซีนประมาณ 0-20% ของประชากร สำหรับประเทศไทยได้จองวัคซีนแล้ว จำนวน 26 ล้านโดส และรัฐบาลกำลังดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับวัคซีนจำนวนเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอกับทุกคน ทั้งโดยการผลิตในประเทศ จัดหาจากผู้ผลิตแต่ละราย และวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศด้วย
“อว. ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องวัคซีนอย่างใกล้ชิดทุกวันโดยประสานงานกับ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสนับสนุนทางด้านวิชาการ การวิจัย และเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และความสำเร็จของพัฒนาวัคซีนโรคโควิดของทั่วโลกอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์นี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก วัคซีนแต่ละชนิดที่ผ่านการประเมินนั้น มีประสิทธิภาพดี ทดสอบแล้วมีความปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ และป้องกันการติดเชื้อได้ดี รวมทั้งนักวิจัยทั่วโลกยังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด การกลายพันธุ์ของเชื้อ และจะพัฒนาวัคซีนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย" ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ตอบลบ